วันศุกร์ที่ 27 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558

การทำแท้ง

ความหมายของการแท้ง
การแท้ง หมายถึง การสิ้นสุดของการตั้งครรภ์ ก่อนที่เด็กจะสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้นอกครรภ์มารดา เท่าที่องค์การอนามัยโลกใช้กันมาแต่เดิม ถือเอาการสิ้นสุดของการตั้งครรภ์ก่อนอายุครรภ์ ๒๘ สัปดาห์ ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่เด็กยังหนักไม่ ถึง ๑,๐๐๐ กรัม
ในระยะหลังนี้ประเทศที่พัฒนาแล้วมีความก้าวหน้าทางการแพทย์มาก จนสามารถจะเลี้ยงดูเด็กที่น้ำหนักแรกคลอดต่ำกว่า ๑,๐๐๐ กรัม ให้รอดชีวิตได้เป็นส่วนใหญ่ ประเทศเหล่านั้นจึงเปลี่ยนนิยามของการแท้งใหม่ โดยถือว่า การแท้งเป็นการสิ้นสุดของการตั้งครรภ์ เมื่ออายุครรภ์ต่ำกว่า ๒๐ สัปดาห์ หรือเมื่อเด็กมีน้ำหนักต่ำกว่า ๕๐๐ กรัม สำหรับในประเทศไทยยังไม่ก้าวหน้าถึงเพียงนั้น จึงพากันใช้คำนิยามเดิมไปก่อน
การแท้งอาจแบ่งเป็นกลุ่ม ใหญ่ๆ ได้ ๒ กลุ่ม คือ
๑. การแท้งเอง หมายถึง การแท้งที่เกิดจากสาเหตุต่างๆ ที่ไม่เกี่ยวข้องกับการกระทำที่จงใจจะให้เกิดการแท้ง ถือเป็นความล้มเหลวของการตั้งครรภ์ตามธรรมชาติ สาเหตุของการแท้งเองอาจจะเกิดได้จาก
ก. ความบกพร่องของไข่ที่ผสมแล้ว หรือตัวอ่อน พวกนี้จะแท้งตั้งแต่เริ่มตั้งครรภ์ใหม่ๆ ไปจนถึงอายุครรภ์ไม่ เกิน ๑๒ สัปดาห์
ข. ความบกพร่องทางด้านมารดา เช่น มดลูกพิการ ปากมดลูกปิดไม่ดี โรคประจำตัวบางอย่าง เช่น โรคไต โรคเลือด การแท้งจากสาเหตุนี้จะเกิดขึ้น เมื่ออายุครรภ์มากเกิน ๑๒ สัปดาห์ขึ้นไป
จากการสำรวจผู้ป่วยแท้งเอง แพทย์ยังไม่พบสาเหตุชัดเจน สำหรับตัวผู้ป่วยเองนั้น มักจะคิดว่า การกระทบกระเทือนเป็นสาเหตุของการแท้ง
๒. การทำแท้ง หมายถึง กระทำ เพื่อให้เกิดการแท้ง แบ่ง เป็น
ก. การทำแท้ง เพื่อการรักษา หมายถึง การทำแท้งในกรณีที่กฎหมายอนุญาตให้ทำได้ กฎหมายระบุไว้ชัดเจนว่า แพทย์สามารถจะทำแท้งได้ในกรณีต่อไปนี้
(๑) เมื่อพิจารณาเห็นว่า หากปล่อยให้การตั้งครรภ์ดำเนินต่อไป จะเป็นอันตรายร้ายแรงต่อชีวิตสุขภาพของมารดา เช่น ผู้ป่วยโรคมะเร็ง โรคเลือด โรคไตบางชนิด
(๒) มารดาที่เป็นโรคจิตอยู่ก่อนการตั้งครรภ์ หรือเป็นโรคจิตขณะตั้งครรภ์
(๓) การตั้งครรภ์ที่เกิดขึ้นจากการข่มขืนกระทำชำเราในผู้เยาว์ต่ำกว่า ๑๕ ปี
โดยทั่วไป แพทย์จะเป็นผู้ตัดสินว่ารายใดควร จะทำแท้งให้ แม้ว่าจะมีเหตุผลถูกต้องตามกฎหมาย แพทย์ก็ยังจะต้องพิจารณาดู ถึงผลได้และผลเสียของการ ทำแท้งในแต่ละรายด้วย อาทิเช่น เด็กอายุ ๑๓ ขวบถูก ข่มขืนจนตั้งครรภ์ ถึงแม้จะมีหลักฐานชัดเจน แต่ได้ปล่อยปละละเลยทิ้งไว้จนอายุครรภ์ ๖ เดือน กรณีนี้การ ทำแท้งก่อให้เกิดอันตรายมากกว่าการปล่อยให้ตั้งครรภ์ต่อไป
อาจจะเป็นเพราะกฎหมายการทำแท้งค่อนข้าง เก่า หรือเพราะความเจริญก้าวหน้าทางวิชาการแพทย์ ค่อนข้างรวดเร็ว จนสามารถจะให้การวินิจฉัยความพิการ บางชนิดของเด็กในท้องได้ แพทย์จึงทำแท้งให้ในกรณีของเด็กพิการ ซึ่งบางรายยังพิสูจน์ไม่ได้ว่า จะพิการหรือไม่ เช่น กรณีของมารดาติดเชื้อหัดเยอรมัน เพียง ขณะตั้งครรภ์อ่อนๆ โอกาสที่เด็กในท้องจะมีความพิการของหัวใจ หูหนวก ตาเป็นต้อ และสมองพิการใน อัตราค่อนข้างสูง มารดามีความวิตกกังวลว่า เด็กที่ออกมาจะพิการ เป็นอันตรายต่อสุขภาพจิตของมารดา และถ้าเด็กออกมามีความพิการจริงก็จะเป็นภาระแก่ครอบครัว สังคม และประเทศชาติต่อไป
ในเรื่องของโรคจิตนั้น จิตแพทย์จะเป็นผู้พิจารณา ชี้ขาดว่าควรทำแท้งหรือไม่ ทั้งนี้ก็เพื่อขจัดปัญหาเกี่ยวกับการเป็นโรคจิตจริง หรือโรคจิตปลอมออกไป
ข. การทำแท้งผิดกฎหมาย หมายถึง การ ลักลอบทำแท้งโดยบุคคลที่มิใช่แพทย์ ไม่ว่าจะทำโดยเหตุผลใดๆ ทั้งสิ้น รวมทั้ง การทำแท้งโดยแพทย์ที่ทำ นอกเหนือข้อบ่งชี้ที่กฎหมายระบุไว้ เนื่องจากผู้ประกอบการทำแท้งส่วนมากมิใช่แพทย์ และทำแท้ง โดยไม่ถูกหลักวิชา การทำแท้งผิดกฎหมาย จึงมักมีอาการแทรกซ้อน และมีอันตรายมากกว่าแท้งเอง หรือแท้งเพื่อการรักษา
อุบัติการของการแท้งและการทำแท้ง
การแท้งเอง
จากสถิติทางการแพทย์พบว่า การแท้งเองเกิดขึ้นร้อยละ ๑๐ ของการตั้งครรภ์ หมายถึงว่า การตั้งครรภ์ ๑๐ ครั้ง จะเกิดการแท้งเอง ๑ ครั้ง แต่ผู้เขียนคิดว่า ตัวเลขที่แท้จริงน่าจะมากกว่านี้ ทั้งนี้เนื่องจากการแท้งเองในระยะที่พึ่งเริ่มตั้งครรภ์ใหม่ๆ อาจเกิดขึ้นโดยผู้ตั้งครรภ์ไม่ทราบว่า ตนเองแท้ง อาจคิดว่า มีประจำเดือนล่าช้ากว่ากำหนดก็ได้
การทำแท้งเพื่อการรักษา
อุบัติการของการทำแท้ง เพื่อการรักษานั้นมีน้อย ที่โรงพยาบาลศิริราช มีการทำแท้ง เพื่อการรักษาปีละ ๓๐-๔๐ รายเท่านั้น ช่วงเวลาที่มีการระบาดของหัดเยอรมัน จำนวนการทำแท้ง เพื่อการรักษาก็มากขึ้น
การทำแท้งที่ผิดกฎหมาย
การลักลอบทำแท้งที่ผิดกฎหมายมีอุบัติการสูงมาก เท่าที่เผยแพร่ตัวเลข เพื่อประกอบการพิจารณาแก้ไขกฎหมายทำแท้งในปี พ.ศ. ๒๕๒๔ นั้น อ้างว่า มีการทำแท้งทั่วประเทศปีละระหว่าง ๒๐๐,๐๐๐-๔๐๐,๐๐๐ ราย ตัวเลขนี้ผู้ที่คัดค้านการแก้กฎหมายทำแท้งให้ความเห็นว่า มากเกินความเป็นจริง แต่สำหรับผู้สนับสนุนให้แก้กฎหมายกลับคิดว่าเป็นตัวเลขที่น้อยไปด้วยซ้ำ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น